
ปัญหา การนอนหลับยากผู้สูงอายุ แก้ไขได้ไม่ยากเกินความพยายาม
การนอนหลับยากในผู้สูงอายุ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกายของคนเรามากที่สุด แต่สำหรับในกลุ่มผู้สูงอายุนั้น การนอนหลับในบางครั้งก็สร้างปัญหาได้เช่นกัน โดยในประเทศไทยนั้นพบว่ามีกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีปัญหาในเรื่องของการนอนไม่หลับมากถึง 50% ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยคนในครอบครัว และคนใกล้ชิดต้องทำความเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นก่อน และช่วยกันแก้ไขได้ทันท่วงที โดยการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุนั้น มีสาเหตุดังนี้

การนอนหลับยากในผู้สูงอายุ เกิดจากสาเหตุอะไร
1. การเปลี่ยนแปลงจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น
ปัจจัยในเรื่องของวัย จะส่งผลต่อระบบการทำงานในร่างกาย รวมไปถึงการนอนหลับที่ระยะเวลาที่หลับลึกจะลดลง แต่ช่วงเวลาหลับตื้น (เป็นเวลาที่เคลิ้มเหมือนจะหลับ แต่ยังไม่หลับสนิท) จะยาวขึ้น รวมไปถึงมักตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง เพียงแต่หากไม่มีปัญหาเพราะเมื่อตื่นมาก็สามารถหลับต่อได้ ไม่กระทบกับสุขภาพการนอนแต่อย่างใด โดยผู้สูงอายุกลุ่มนี้แม้ว่าจะมีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี ก็มักจะสังเกตได้ว่าตนเองนอนหลับได้นอนลง และกลุ่มนี้มักไม่มีอาการง่วงหลับระหว่างวันด้วย

2. โรคประจำตัว และยาบางชนิด
การรับประทานยา หรืออาหารเสริมบางชนิด ที่มีฤทธิ์ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง และสมอง หรือแม้แต่ยารักษาโรคประจำตัวบางชนิดนั้นมีสารคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ เช่น คาเฟอีนในยาแก้หวัดบางชนิด อีกทั้งหากเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่มักปวดปัสสาวะบ่อยครั้ง อาจจะทำให้ตื่นกลางดึกเพื่อลุกมาเข้าห้องน้ำบ่อยๆ หรือแม้แต่ยาขับปัสสาวะในกลุ่มผู้ป่วยโรคความดัน ที่ทำให้ไม่สามารถหลับในระยะยาวได้ เพราะต้องตื่นมาเข้าห้องน้ำอยู่บ่อยๆ อีกด้วย

3. ความเครียด วิตกกังวล
โดยทั่วไปมักเกิดจากปัญหาที่ต้องเจอในการใช้ชีวิต เช่น การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ย้ายที่อยู่อาศัย ย้ายงาน จนทำให้เกิดความเครียด และกังวล ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ หากได้รับการพูดคุยปรึกษาอย่างใกล้ชิดจากคนในครอบครัว
อย่างไรก็ตามวิธีแก้ไขการนอนหลับยากในผู้สูงอายุนั้น ต้องหมั่นสังเกตอาการให้ดีเพราะในบางครั้งหากมีอาการรุนแรง อาจต้องรีบพาผู้สูงวัยไปพบแพทย์ โดยหากเกิดจากความเครียด หรือความวิตกกังวล อาจพูดคุย หรือชวนผู้สูงอายุทำกิจกรรมเพื่อคลายเครียดได้ เช่น สวดมนต์ หรือเปิดเพลงเบาๆ ก็สามารถช่วยได้อีกทางหนึ่ง สิ่งสำคัญคือ ไม่ควรสั่งหรือบังคับการนอน เพราะจะยิ่งทำให้เครียด และยิ่งนอนไม่หลับไปมากขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่ดีที่สุด คือ พยายามควบคุมการนอนของตนเองให้เป็นเวลาเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ร่างกายมีนาฬิกาของตัวเองและรู้เวลาไหนที่ต้องนอนหลับในที่สุดด้วย
ฝากกดติดตามการดูแลสุขภาพ
บทความสุขภาพที่น่าสนใจ5 วิธีจัดการความเครียด ง่าย ๆ ภัยร้ายใกล้ตัวที่แก้ได้ด้วยตัวเราเอง